วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

การเมืองไทยในปัจจุบัน

การเมืองไทย
การเมืองไทยในปัจจุบัน อยู่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของรัฐบาล และพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประมุขแห่งรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากอีกสองฝ่ายที่เหลือ การเลือกตั้งในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในระบบหลายพรรค
ฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยอยู่ในระบบสภาคู่ แบ่งออกเป็นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายตุลาการ มีศาลเป็นองค์กรบริหารอำนาจ เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายไทย ส่วนใหญ่ ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองอยู่ในระบบหลายพรรค กล่าวคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเด็ดขาด จึงต้องจัดตั้ง "รัฐบาลผสม" ปกครองประเทศ
ตั้งแต่โบราณกาล ราชอาณาจักรไทยอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนฉบับแรกได้ถูกร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยยังคงมีการต่อสู่ระหว่างกลุ่มการเมืองระหว่างอภิชนหัวสมัยเก่าและหัวสมัยใหม่ ข้าราชการ และนายพล ประเทศไทยมีการก่อรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารชุดแล้วชุดเหล่า นับจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและกฎบัตรรวมแล้ว 18 ฉบับ (นับฉบับปัจจุบัน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างสูง หลังจากรัฐประหารแต่ละครั้ง รัฐบาลทหารมักจะยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมและประกาศใช้กฎบัตรชั่วคราว
รัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้าการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญใช้ในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์และเป็นประมุขฝ่ายบริหารเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับเขียนได้มีการประกาศใช้ โดยคาดว่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการปกครองประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นระหว่างกลุ่มมีอิทธิพล จึงได้เกิดรัฐประหารขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2477 รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการฉบับแรกของประเทศถูกยกเลิก และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กฎบัตรและรัฐธรรมนูญทั้งหมดของประเทศไทยได้ให้การรับรองว่าประเทศอยู่ภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมากในสมดุลของการแบ่งแยกอำนาจ รัฐบาลไทยส่วนใหญ่ปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูฐบางฉบับได้ถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2500 ประเทศไทยได้เคยใช้ทั้งระบบสภาเดี่ยวและสภาคู่ และสมาชิกรัฐสภามีทั้งแบบเลือกตั้งและแต่งตั้ง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเช่นกัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ได้มีการประกาศใช้หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ. 2535) อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ[1] เช่นเดียวกับความเป็นประชาธิปไตยในตัวกฎหมาย นอกจากนี้ยังบัญญัติให้สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สิทธิมนุษยชนจำนวนมากได้รับการรับรองตามกฎหมาย และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ถูกยกเลิก คณะรัฐประหารได้ประกาศกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นปกครองประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาให้คณะรัฐประหารมีอำนาจที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด การปะทะและการชุมนุมทางการเมืองได้เกิดขึ้นอยู่บ้าง และการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางการเมือง คณะรัฐประหารถูกบีบบังคับให้ยินยอมที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและเทศบาลเป็นปกติ ในปี พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการประกาศใช้ แต่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาจากคณะรัฐประหารและเป็นเผด็จการอยู่มาก
 รัฐบาล
รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติอันสถานปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ[2] แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
รัฐสภาไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจนิติบัญญัติ เป็นแบบระบบสองสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกรวมกัน 650 คน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน รวมกันไม่เกิน 36 คน ส่วนศาลไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจตุลาการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นโยบายการต่างประเทศของไทยรวมไปถึงการสนับสนุนอาเซียน เน้นเสถียรภาพในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพอันยาวนานกับสหรัฐอเมริกา
ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทเต็มในองค์กรทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจทุกปี ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังดำเนินการทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมืองและวัฒนธรรม ประเทศไทยยังได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก, บุรุนดีและปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน อีกด้วย
พรรคการเมือง
ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองอยู่ในระบบหลายพรรค กล่าวคือ มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคที่เรียกว่า "รัฐบาลผสม" ยกเว้นสมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งพบว่ารัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาจนไม่จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น คนไทยรวมตัวกันอยู่ในลักษณะนครรัฐ โดยยกตัวอย่างเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ถึงแม้ว่าจะมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่ก็ยังคงมีอำนาจภายในกลุ่มแคว้นต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี ลพบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ซึ่งหากกลุ่มอำนาจใดที่ครองอำนาจอยู่ในเมืองหลวงเพลี่ยงพล้ำให้แก่กลุ่มอื่น ๆ แล้วก็สามารถถูกชิงอำนาจไปได้เช่นกัน เช่น ราชวงศ์อู่ทองถูกแคว้นสุพรรณบุรีชิงอำนาจไปในสมัยขุนหลวงพะงั่ว[6]
อย่างไรก็ตาม อาณาจักรอยุธยาสามารถรวบรวมอำนาจบางกลุ่มผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับตนได้สำเร็จ โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้กุศโลบายต่าง ๆ ทั้งความสัมพันธ์เครือญาติ การปฏิรูปการปกครองไปจนถึงการใช้กำลังทหาร เพื่อผนวกเอาแคว้นสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมัยดังกล่าวยังมีการปกครองที่เป็นปึกแผ่นมากขึ้น กระทั่งการล่มสลายอย่างสิ้นเชิงก็ไม่สามารถทำลายความรู้สึกของผู้คนตามไปด้วยได้[6] จึงนำไปสู่การเกิดใหม่ของกรุงศรีอยุธยาเป็นกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
การปกครองของไทย ในสมัยสุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ในสมัยอยุธยาเป็นแบบเทวราชา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นธรรมราชาจากอิทธิพลของศาสนาพุทธต่อการเมืองการปกครอง[6] ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภัยคุกคามจากชาติตะวันตกเป็นภัยคุกคามที่นครรัฐของคนไทยไม่เคยประสบมาก่อนจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการปรับปรุงบ้านเมืองโดยการสร้างรัฐชาติ อันเป็นการยกระดับจากชุมทางแห่งอำนาจมาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจบนดินแดนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทน[7] ซึ่งได้พัฒนาต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การก่อตั้งกระทรวงขึ้นเพื่อให้บริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างทันสมัย และการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในระยะนี้เองที่เริ่มมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย
ต่อมาได้มี การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพฤตการณ์ "ชิงสุกก่อนห่าม" ในขณะที่บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นช้าเกินไป อันเป็นสาเหตุของ "วงจรอุบาทว์"เพราะเกิดขึ้นช้าเกินกว่าที่ประชาธิปไตยจะพัฒนาไปอย่างมั่นคงในประเทศไทย อีกทั้งการปฏิวัติด้วยมือของคณะทหารก็ได้ทำให้การเมืองเป็นลูกไล่ของทหารและข้าราชการ
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลังของชนชั้นกลางเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าเขตชนบทจะให้คะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจัดตั้งรัฐบาล แต่เสถียรภาพของรัฐบาลจะมาจากประชาชนในเขตเมือง
การเมือง (อังกฤษ: politics) คือ กระบวนการและวิธีการ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มคน คำนี้มักจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับรัฐบาล แต่กิจกรรมทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในทุกกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งรวมไปถึงใน บรรษัท, แวดวงวิชาการ และในวงการศาสนา
ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ นักทฤษฎีการเมืองคนหนึ่ง ได้นิยามการเมืองว่า เป็นการตัดสินว่า "ใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร"
วิชารัฐศาสตร์ คือ วิชาที่ศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง และวิเคราะห์การได้มาซึ่งอำนาจและการนำอำนาจไปใช้ ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามสิ่งที่ตนตั้งใจ
แนวความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเมือง
เราอาจเคยสงสัยและตั้งคำถามว่า เหตุใดมนุษย์จึงต้องปกครองกัน ทำไมไม่ปล่อยให้มนุษย์อยู่กันเอง กระทั่งอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า การเมืองกับการปกครองเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งหลายคนจำเพาะในกลุ่มผู้ที่ขาดความสนใจต่อความเป็นมาเป็นมาในกิจการทางการเมืองอาจฟังดูไม่กระจ่างนัก ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวประการใด
คำตอบต่อความสงสัยข้อแรกนั้นโยงใยไปถึงความข้อต่อมากล่าวคือ มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน หากมิได้กำหนดกติกาอะไรสักอย่างขึ้นมากำกับการอยู่รวมกันของมนุษย์แล้วนั้น มนุษย์ด้วยกันเองยังเชื่อว่าน่าจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ป่าเถื่อน ขลาดกลัวและไม่เป็นระเบียบดังที่ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1588-1679 ได้เคยกล่าวไว้ในผลงานปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อเรื่อง “Leviathan” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1651 ว่า เมื่อมนุษย์จำต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กติกาแล้ว ก็จำเป็นอยู่ในตัวเองที่จะต้องกำหนดตัวผู้นำมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้สังคมหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เช่นที่กล่าวมาเราคงพอจะทราบบ้างแล้วว่าเหตุใดจึงเกิดมีระบบการปกครองขึ้น
และโดยนัยที่มนุษย์จำต้องปกครองกันนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือการจะทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป หลีกเลี่ยงมิได้เสียที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางการเมือง อันมีความหมายและบริบทที่สะท้อนออกมาในเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน การเมืองการปกครองซึ่งเป็นสภาพการณ์และผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Eulau 1963, 3) จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ใดก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองการปกครองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (Developmental Program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นเรื่องภาคราชการทั้งหลายต่างรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ภายใต้ความมุ่งประสงค์ที่จะหยั่งรากประชาธิปไตยในสังคมไทย และหากได้มองย้อนไปถึงแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองโบราณเช่น อริสโตเติล (Aristotle) ปรัชญาเมธีชาวกรีกโบราณ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ผู้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ตามธรรมชาติเป็นสัตว์การเมืองต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน อันแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก หากแต่มนุษย์ นอกจากจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณแล้ว ยังมีเป้าหมายอยู่ร่วมกันอีกด้วย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จึงมิใช่มีชีวิตอยู่ไปเพียงวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อจะให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย เราก็จะมองเห็นภาพของการเมืองในแง่หนึ่งว่าการเมืองนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในชุมชนหรือสังคมเพื่อให้มีความสงบสุข

ความหมายของการเมือง

ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ มุมมองที่ใช้พิจารณาการเมืองหรือพูดเป็นศัพท์ทางวิชาการก็คือแนวการศึกษาวิเคราะห์การเมือง (Approach to Political Analysis) ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ใครจะเห็นว่าแนวการมองการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงต่อการอธิบายความเป็นการเมืองได้มากที่สุด โดยคำว่า การเมืองนี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด ตามแต่จะใช้ตัวแบบใดในการศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมือง และด้วยตัวแบบที่เป็นกรอบในการศึกษาวิเคราะห์นี้ จะยังผลให้กรอบการมองคำว่าการเมืองต่างกันไป ในขณะที่สาระสำคัญของคำจำกัดความเป็นไปในทำนองเดียวกันกล่าวคือเป็นเรื่องของการใช้อำนาจแบบสองทางระหว่างฝ่ายที่เป็นผู้ปกครอง (Rulers) และฝ่ายผู้ถูกปกครอง (Ruled) ดังจะได้ยกมากล่าวถึง ซึ่งสำหรับผู้ศึกษารัฐศาสตร์มือใหม่แล้ว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการเมืองนั้น จึงดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนอยู่มิใช่น้อย เนื่องมาจากความหมายของการเมืองที่ปรากฏอยู่ในตำราเล่มต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นเผยแพร่นั้นมีอยู่หลากหลายต่างกันไปตามความเจตนารมณ์และมุ่งประสงค์ในการนำความหมายของการเมืองเพื่อไปอธิบายปรากฏการณ์ของผู้ให้คำนิยามความหมายของการเมือง ดังได้กล่าวไปแล้ว
คำจำกัดความของการเมืองที่ชัดเจนและรัดกุมมากที่สุดโดยนัยที่ได้กล่าวไปนี้ พิจารณาได้จากทัศนะของชัยอนันต์ สมุทวณิช (2517, 61) ที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปของรัฐและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ภายในรัฐระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง โดยเมื่อสังคมมนุษย์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาล คนเราจึงต้องแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่บังคับกับผู้ถูกบังคับเสมอ
ผู้เรียบเรียงได้รวบรวมและประมวลคำนิยามหรือความหมายของคำว่าการเมือง มานำเสนอโดยจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ โดยเป็นการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและอิทธิพลในการบริหารกิจการบ้านเมือง โดยคำนิยามของการเมืองในเชิงอำนาจที่น่าสนใจอันหนึ่ง ที่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนมากได้แก่นิยามของ เพนนอคและสมิธ (Pennock and Smith 1964, 9) ที่กล่าวว่า การเมือง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม
อีกหนึ่งคำนิยามการเมืองที่ถือได้ว่าครอบคลุมและช่วยให้เห็นภาพความเกี่ยวพันของการเมืองกับบุคคลในสังคมได้แก่ ณรงค์ สินสวัสดิ์ (2539, 3) ที่กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง โดยที่อำนาจทางการเมืองหมายถึง อำนาจในการที่จะวางนโยบายในการบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ อำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ แนวการมองการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ (Power Approach) ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปนี้ เป็นแนวทางการศึกษาหนึ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ทั่วไป ที่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องหรือมีบริบทเกี่ยวกับการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน ก็มักให้คำนิยามของการเมืองว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ในเชิงการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์ ต่อผู้อยู่ใต้อำนาจซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง โดยคำนิยามเช่นนี้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (development program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ จึงล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและบุคคลทั่วไป โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นความรู้หนึ่งที่ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยสมควรสั่งสมให้แก่พลเมืองของรัฐ เพื่อประโยชน์เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นักรัฐศาสตร์บางท่านมองว่า แท้จริงนั้น การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการต่อสู่แย่งชิงกันของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ในอันที่จะแย่งชิงกันเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ผลผลิตจากระบบการเมือง (Political Outputs-ผลผลิตของระบบการเมือง เป็นคำศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ตามทัศนะของอีสตัน (David Easton) นักรัฐศาสตร์อเมริกัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแนวคิดทฤษฎีการเมืองเชิงระบบ (the Systems Theory) อันได้แก่ นโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ โครงการหรือแผนงานพัฒนาของภาครัฐและภาคราชการ ซึ่งผลในทางที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนมากที่สุด เราเรียกการวิเคราะห์การเมืองแนวทางนี้ว่าเป็น การวิเคราะห์เชิงกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งดูไปก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแนวการมองการเมืองเชิงอำนาจที่จะกล่าวถึงต่อไป ความหมายของการเมืองในมุมมองนี้ จึงเป็นว่า การเมืองการเมืองคือการที่บุคคลใดหรือกลุ่มใดในสังคม ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือขัดกันก็ตาม หรือมีความเห็นเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ตาม มาทำการต่อสู้เพื่อสรรหาบุคคลมาทำหน้าที่ในการปกครองและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะให้เขาสามารถตัดสินใจในเรื่องของส่วนรวมได้โดยชอบธรรม ซึ่งจัดเป็นแนวที่นักรัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมการเมือง (Political Scientist) นิยมกัน
กลุ่มที่สอง มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรของรัฐหรือสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม ดังเช่นมุมมองของอีสตัน (David Easton) ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า การเมือง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ ให้กับสังคมอย่างชอบธรรม (The authoritative allocation of values to society) ความหมายของการเมืองดังที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นนิยามที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากสำนักพหุนิยม (Pluralism) อย่างไรก็ดี ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2535, 4-5) อธิบายว่า เราจะใช้ความหมายการเมืองดังกล่าวนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ในสังคมนั้น ๆ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความเห็นพ้องต้องกันและยอมรับในกติกาที่กำหนดการใช้อำนาจเพื่อแบ่งปันสิ่งที่มีคุณค่าเท่านั้น ส่วนในสังคมที่ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับกติกาการกำหนดสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม ชัยอนันต์ อธิบายว่า การเมืองยังคงเป็นเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันคุณค่าที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากที่สุด เท่าที่จะเป็นได้ หรือ “The competition for the authority to determine the authoritative allocation of values to society” โดยนัยเช่นนี้ การเมืองจึงมีสองระดับ ระดับแรก การเมืองอยู่ภายใต้การแข่งขัน ขัดแย้งของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่ทุก ๆ ฝ่ายยอมรับได้ ในขณะที่การเมืองในความหมายอย่างแรกดังทัศนะของนักคิดกลุ่มพหุนิยมที่ได้กล่าวไปแล้ว ดูจะยอมรับในจุดเน้นว่ารัฐ เป็นการรวมกันหรือประกอบกันของกลุ่มหลากหลายในสังคม และรัฐมิได้เป็นเครื่องมือทางการบริหาร โดยที่มิได้เป็นตัวกระทำทางการเมือง (actors) ที่จะชี้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่รัฐเป็นเพียงรัฐบาล (State as government) ที่ทำหน้าที่เพียงเอื้ออำนวยความสะดวกในการแข่งขันกันของกลุ่มหลากหลายเท่านั้น (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2535, 6)
นอกจากนี้ คำนิยามการเมืองในกลุ่มที่สอง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างสูงยังได้แก่ ทัศนะของลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ที่กล่าวว่า การเมือง เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลและผู้มีอิทธิพล และการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่า ใคร ทำอะไร เมื่อไร และอย่างไร (Politics is, who gets “What”, “When” and “How”)
กลุ่มที่สาม มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ผู้คนซึ่งต้องการใช้ทรัพยากรนั้นมีอยู่มากและความต้องการใช้ไม่มีขีดจำกัด การเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่คนในสังคมไม่อาจตกลงกันได้หรือเกิดมีความขัดแย้งขึ้น อย่างไรก็ดี การมองการเมืองในลักษณะนี้มีข้อโต้แย้งอยู่มากว่า หากไม่อาจยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ บ้านเมืองย่อมตกอยู่ในสภาวะยุ่งยากวุ่นวาย ต่อมาจึงมีผู้ให้มุมมองการเมืองใหม่ว่าเป็นเรื่องของการประนีประนอมความขัดแย้งมากว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง
กลุ่มที่สี่ มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความขัดแย้งจากการดำเนินงานทางการเมืองที่ไม่มีทางออก
กลุ่มที่ห้า ถือว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐและการบริหารประเทศในกิจกรรมหลัก 3 ด้านคือ งานที่เกี่ยวกับรัฐ การบริหารประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย และการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นการควบคุมให้มีการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งหากพิจารณาให้ละเอียดแล้ว การเมืองโดยนัยยะความหมายประการนี้ เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับการเมืองในความหมายเชิงอำนาจ ซึ่งก็เป็นเพราะอำนาจทางการเมืองนั้น ได้ถูกนำไปใช้ผ่านกระบวนการนโยบายและการแต่งตั้งคัดสรรผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ (ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ในรูปของอำนาจและการปฏิบัติงานทางการปกครอง และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการบริหารหรือการปกครองที่ยากจะแยกออกจากกันได้
กลุ่มที่หก การเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายของรัฐ กล่าวคือ การเมืองคือกิจกรรมใดใดที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย หน่วยงานและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยนัยหนึ่ง การเมืองก็คือกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ นั่นเอง
ระบบการเมืองไทย ที่หลงทาง
 



ความสนใจการเมืองเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนี้ นับเป็นข้อศึกษาเปรียบเทียบต่อรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภาของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ที่เห็นได้โดยชัดว่าในเพียงช่วงเวลาไม่นานที่ผ่านพ้นไป การเมืองไทยได้เดินหลงทางหรือผิดต่อระบบจารีตทางการเมืองการปกครอง ยังผลให้เกิดความวุ่นวายที่กลับกลายเป็นความขัดแย้ง แล้วก็แตกแยกระหว่างผู้คนพลเมือง จนกระทั่งยากที่จะเยียวยาแก้ไข แล้วจะมองปัญหาว่ามีที่มาจากอะไร ? ก่อนอื่นคงต้องศึกษาไปที่ข้อเท็จจริงทางหลัก     รัฐศาสตร์การปกครองว่า ประเทศไทยดำรงสถานะความเป็นรัฐเดี่ยว หาใช่เป็นรัฐรวมที่จะกระจายอำนาจการปกครองออกเป็น 50  มลรัฐอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา

กรณีประเทศไทย จังหวัดจำนวน 75 จังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยง  พระราชอำนาจทางการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงต่อรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (การเรียกว่า รัฐบาลกลางนั้นผิด) หรือโดยนัยก็คือเป็นผู้ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ และพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของจังหวัด และบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรของพระองค์ท่านให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ใช่ถือข้างในเชิงผลประโยชน์ส่วนตน หรือละเลยการผสานความแตกแยกทางสังคมเพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี โดยความหมายของผู้เป็นข้าราชการ ณ ตรงนี้ คือ การไม่เป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือของใครที่เป็นกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง แต่จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน  ตามนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งต่างล้วนเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์ ยังจะต้องเป็นผู้กำกับดูแลการปกครองในทุกๆ ส่วนของพื้นที่ให้เกิดการบริหารจัดการที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขของประชาชนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ มองไปที่ส่วนกลาง กระบวนทัศน์ของภาครัฐยิ่งจะต้องประมวลวิธีการปฏิบัติที่มีความชัดเจน ตามระบบของรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เริ่มตั้งแต่สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาจากรัฐสภา ต่างล้วนทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดความเป็นศักดิ์เป็นศรี และเป็นเกียรติยศต่อประเทศชาติในพระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ หรืออย่างที่เรียกกันตามแบบสากลว่า   “His Majesty’s Government”

สำหรับผู้เป็นข้าราชการส่วนกลางซึ่งหมายรวมถึงข้าราชการทุก ๆ ประเภทที่ปัจจุบันได้ยกเลิกระบบซี (Position Classification) และเปลี่ยนมาเป็นระบบกลุ่มหรือแท่งตามสายงานของความชำนาญการ อันถือเป็นแนวคิดที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ระบบซี หรือ ระดับมาก่อให้เกิดความแบ่งแยก ดูหมิ่นดูแคลน และการกลั่นแกล้งข่มเหงในหมู่ข้าราชการด้วยกันเอง ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบธรรมาภิบาลทางการบริหารราชการแผ่นดิน การเมืองการปกครองไทยในทุกยุคทุกสมัยจึงมุ่งเน้นคุณลักษณะของความเป็นรัฐเดี่ยว ข้าราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต้องมุ่งสร้างความมีระเบียบวินัยอันดีให้เกิดขึ้นในกรอบเดียวกัน จังหวัดซึ่งมีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงทางการบริหารต่อส่วนกลาง และหัวใจสำคัญทางการปกครอง คือ การถวายพระเกียรติยศและความจงรักภักดีสูงสุดต่อ     พระมหากษัตริย์ ประการนี้ จะกลับกลายเป็นความบกพร่องผิดพลาดทางการบริหารไม่ได้เลยอย่างเช่นเหตุการณ์หลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นและทำร้ายจิตใจที่สร้างความเจ็บปวดแก่คนไทยผู้มีความรักชาติรักแผ่นดิน ซึ่งภาครัฐจะต้องใช้ความเด็ดขาดเข้าแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

นับเป็นข้อสังเกตสำคัญอีกประการหนึ่ง ในเชิงการศึกษาระบบการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ทางการบริหาร และข้าราชการในประเทศซึ่งมีการปกครองในระบบรัฐสภา(Parliamentary System) จะมีคุณลักษณะอันกอปรด้วยอัตลักษณ์ของความสุภาพเรียบร้อยและมีระเบียบวินัยเสียมาก คือ ไม่แสดงออกซึ่งอากัปกิริยาของความเกรี้ยวกราด ความหยาบคาย ความโอ้อวดคุยโว ความขาดวุฒิภาวะ และพยายามสร้างภาพลักษณ์ตนเองให้ปรากฏในลักษณะที่ผิดธรรมชาติตามแนวคิดดั้งเดิมอย่าง Hollywood Model ที่มิใช่บุคลิกภาพของผู้บริหารที่ดี หากแต่จะต้องมีการติดตามประเมินผลบทบาทหน้าที่ของตนเองอยู่เสมอว่า ต่างมีความมุ่งมั่นเป็นพลเมืองที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์โดยตลอดเวลา ในขณะเดียวกันที่ผู้บริหารจะไม่วางตัวเกินเลยต่อบทบาทและหน้าที่ อันมิใช่เป็นแบบ Strong Executive ตามอย่างผู้นำสหรัฐฯ แต่จะมีข้อควรคำนึงอยู่ในใจเสมอว่า ความผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมทางการกระทำอันใดจะเป็นผลกระทบต่อพระเกียรติยศ และพระราชสถานะขององค์พระประมุขและชื่อเสียงของประเทศชาติ

ในขณะที่รูปแบบทางการปกครองของสหรัฐฯ (American Political System) จะอยู่ที่ระบบความโดดเด่นของตัวบุคคลทางการบริหาร พรรคการเมืองและประเทศอันดูจะเป็นของคู่กัน เมื่อมีการพูดถึงเรื่องพรรคการเมืองเมื่อใดก็แทบจะเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการดำรงอยู่ของประเทศ ผู้นำสหรัฐฯ จึงมีคุณลักษณะของความเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นผู้นำในรูปแบบของความเป็นพระเอกตามแนวคิด Hollywood Model (แต่ในหลายกรณีก็เป็นผู้ร้ายเสียเองในสายตาของชาวโลก) เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวทางการบริหารย่อมเป็นสิ่งที่ตนต้องรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า กองทัพสหรัฐฯ พ่ายแพ้สงครามเวียดนามอย่างราบคาบ ประธานาธิบดีรับผิดชอบความปราชัยไปเต็ม ๆ แต่ประเทศสหรัฐฯ และชาวอเมริกันไม่แพ้ด้วยและความเป็นมหาอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็แทบจะทำให้สถานะของตนเองในโลกอยู่ในระดับที่เหนือกว่าและห่างไกลความเท่าเทียมที่มีต่อสมาชิกประเทศอื่นใดในโลก ซึ่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีวาระ 4 ปี หรืออย่างมากที่สุดอยู่ได้ 2 วาระ คือ 8 ปี อันถือเป็นเกียรติยศของผู้เป็นประธานาธิบดีที่พึงได้รับในทางจารีตประเพณีทางการเมือง ตามแบบฉบับของประเทศสหรัฐฯ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

อีกเรื่องหนึ่งอันเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นรัฐเดี่ยว จะได้แก่ประเทศซึ่งมีขนาดเล็กอย่างเช่นกรณีประเทศไทย โดยจะเน้นความสำคัญของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความพอเพียงในชีวิต มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และจรรโลงรักษาประเทศในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ทะเยอทะยานแบบสุดโต่งจนกระทั่งออกนอกลู่นอกทางแล้วหลงลืมตัว อันเป็นภาพของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ความคิดที่จะไม่ผลีผลามออกนอกกรอบว่าตนในฐานะผู้บริหารจะตัดสินใจต่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวอย่างกับผู้นำสหรัฐฯ แต่จะดำเนินภาระหน้าที่ในรูปแบบของการเป็นฝ่ายบริหารที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและประสบการณ์ และมีพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ แต่ที่สำคัญประเทศไม่ใช่พรรค นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดไม่ใช่คำตอบของการดำรงอยู่ของพรรค และเสียงส่วนใหญ่มิได้หมายถึงความถูกต้องหรือความที่ควรจะเป็นในทุก ๆ เรื่องเสมอไป

แต่ทุกปัจจัยล้วนถือเป็นองค์ประกอบของความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติ หาใช่เพื่อผลประโยชน์ของพรรคหรือพวกพ้อง ดังนั้น การตัดสินใจในเรื่องหนึ่งๆ จึงต้องเกิดขึ้นภายใต้ความพินิจพิเคราะห์และความรอบคอบอย่างมาก ชนิดที่จะค้นหาความบกพร่องผิดพลาดได้ยากเต็มที

โดยสรุป ระบบและคุณลักษณะเฉพาะของบุคคลในระบบการเมืองการปกครองของแต่ละมิติทางการบริหารมีผลต่อการดำรงอยู่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความผิดพลาดใดๆ เมื่อมีเกิดขึ้นจึงสมควรเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่แรกเริ่มของข้อปัญหา มิใช่ดันทุรังหรือฝืนต่อระบบอันผิดมารยาท (etiquette)     ทางการเมืองการปกครอง อันจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดของระบบนับจากฐานราก แต่ในทางกลับกันหากปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นวิถีปฏิบัติทางการเมืองการปกครองที่สวนทางกับระบบ เป็นการเดินหลงทางจากระบบ (lost our way from the political system) โดยปราศจากการศึกษาข้อผิดพลาดเพื่อนำสู่การปรับปรุงแก้ไขโดยไม่ชักช้า ย่อมแน่นอนเลยว่า สิ่งที่หาใช่เป็นระบบอันถูกต้องและเป็นมาตรฐานในทางจริยธรรมทางการปกครองนั้นจะสามารถดำเนินสืบเนื่องต่อไปได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และถูกทดแทนโดยการวางรากฐานทางการเมืองการปกครองเสียใหม่ด้วยระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่มีระเบียบ” (Procedural Democracy) ในที่สุด อันเป็นเรื่องสาระความรู้ที่จะต้องมีการทำความเข้าใจกันอีกมาก.
       

9 ความคิดเห็น:

  1. คุณอรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ความรู้มากๆค่ะ

    ตอบลบ
  2. อรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ประโยชน์มากเลยครับ

    ตอบลบ
  3. อรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ประโยชน์มากและประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  4. อรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ประโยชน์มากและประโยชน์มากค่ะ

    ตอบลบ
  5. อรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ประโยชน์มากและประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  6. อรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ประโยชน์มากและประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  7. คุณอรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ความรู้มากๆค่ะ

    ตอบลบ
  8. อรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ประโยชน์มากและประโยชน์มากค่ะ

    ตอบลบ
  9. คุณอรอุมา เกิดภาษี กับระบบการเมืองไทยได้ความรู้มากๆค่ะ

    ตอบลบ